ปวดคอ (หมอนรองกระดูกคอเสื่อม)
ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์
อะไรเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดต้นคอ
อาการปวดต้นคออาจจะเกิดจากมีความผิดปกติในบริเวณเยื้อเยื่ออ่อน เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท และกระดูกและข้อในบริเวณกระดูกสันหลังบริเวณต้นคอ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ หรือมีการเสื่อมสลายของกระดูกบริเวณต้นคอและหมอนรองกระดูกต้นคอเป็นเวลานาน ในผู้ป่วยส่วนน้อยอาการปวดต้นคออาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือเนื้องอก ในผู้ป่วยบางคนอาการปวดต้นคออาจจะเกิดจากสาเหตุการปวดที่บริเวณหลังส่วนบน หรือปวดจากบริเวณไหล่
โรคกระดูกคอเสื่อม และการอักเสบ โรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายเนื่องมาจากอายุที่มากขึ้นมักจะมีลักษณะของข้อต่อระหว่างกระดูกเสื่อม มักเกิดในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดเนื่องจากมีการสึกหรอของข้อต่อในบริเวณกระดูกต้นคอ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดคอ และคอยึดติดเคลื่อนไหวลำบาก
เมื่อไหร่ที่ควรจะไปพบแพทย์
ถ้ามีอาการปวดต้นคอเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่ได้รับอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ ตกจากที่สูง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจร่างกาย ถ้าไม่ได้รับอุบัติเหตุท่านควรจะไปพบแพทย์เมื่อ
- มีอาการปวดเรื้อรัง และยังคงอยู่
- อาการปวดรุนแรง
- มีอาการปวดต้นคอ ร่วมกับมีอาการปวดร้าวลงแขน หรือขา
- มีอาการปวดต้นคอร่วมกับอาการปวดศรีษะ ชา และอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ
ทำไมจึงต้องไปพบแพทย์
ท่านควรไปพบศัลยแพทย์กระดูก (ศัลยแพทย์ออร์โทปิดิกส์) เพื่อที่จะได้รับการตรวจประเมิน เพื่อให้ได้การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะเริ่มต้นจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย แล้วให้การวินิจฉัยเบื้องต้น การส่งถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อดูรายละเอียดของกระดูกบริเวณต้นคอว่ามีอะไรผิดปกติบ้าง ถ้าแพทย์ยังสงสัยในเรื่องการวินิจฉัยก็อาจจะส่งผู้ป่วยไปตรวจด้วยเครื่อง MRI ซึ่งสามารถให้รายละเอียดได้ดีที่สุดในปัจจุบัน
รักษาอาการปวดต้นคออย่างไร
การรักษาอาการปวดต้นคอส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรักษาให้หายได้ด้วยการพัก รับประทานยา การทำกายภาพบำบัด การใช้เครื่องพยุงคอ และการปรับเปลี่ยนลักษณะกิจวัตรประจำวัน
ควรปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง
- พยายามใช้ท่าทางอย่างถูกต้องในขณะนั่งทำงาน หรือในท่ายืน โดยไม่พยายามที่จะก้มคอมากเกินไปดังภาพ
- ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อบริเวณคอ
- เวลานอนพยายามใช้หมอนหนุนที่บริเวณต้นคอและศีรษะ
- ถ้ามีอาการปวดเกร็งที่ต้นคอมากอาจสวมใส่เครื่องพยุงลำคอ
- การทำกายภาพบำบัดโดยการประคบด้วยความร้อน และการดึงส่วนลำคอโดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยบรรเทาอาการได้
- อาหารไม่มีบทบาทในการรักษาโรคปวดต้นคอ หรือทำให้เกิดอาการมากขึ้น
สอบถามปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อได้ที่
Line OA: https://lin.ee/swOi91Q หรือ Line ID search @DoctorKeng
Website: www.taninnit.com
YouTube: https://www.youtube.com/results?search_query=taninnit+leerapun
Facebook: หมอเก่งไขปัญหาปวดกระดูกและข้อ
Blockdit: https://www.blockdit.com/doctorkeng