การประเมินผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง
โรคปวดหลังเป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคกระดูกและข้อ
ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์
- การประเมินผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังมีเป้าประสงค์ ได้แก่
การประเมินถึงความรุนแรงของอาการปวดหลัง และการจำกัดการทำงาน การประเมินได้แก่
ระดับความรุนแรงของอาการปวด ซึ่งมีเครื่องมือมาตรวัดความเจ็บปวดได้แก่ Visual analog scale (เส้นวัด 0-100 มิลลิเมตร) และ numeric pain scales (ตัวเลข 0-10)
การวัดหน้าที่การทำงาน มีเครื่องมือหลายอย่างที่ช่วยในการวัดประเมินการทำงานในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังได้แก่ Roland Morris Disability Questionnaire และ Oswestry Disability Index - การประเมินเพื่อแยกโรคที่มีพยาธิสภาพที่รุนแรงในบริเวณกระดูกสันหลังซึ่ง ได้แก่
มะเร็งท่ีบริเวณกระดูกสันหลัง (Spinal metastases) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะภายในอื่นๆ ผู้ป่วยมักจะมีประวัติของการเป็นมะเร็งของอวัยะหนึ่งอวัยวะใดมาก่อน นำ้หนักลด มีอาการปวดหลังมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน อาการปวดไม่ตอบสนองด้วยวิธีการรักษาแบบปกติ อายุมากกว่า 50 ปี มีอาการปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะกะปิดกะปรอย มีอาการเดินลำบาก มีอาการอ่อนแรงของระยางค์ส่วนล่าง
กระดูกสันหลังยุบอันเนื่องมาจากโรคกระดูกพรุน (OSteoporotic collapsed vertebra) ซึ่งมักพบในผู้ป่วยสูงอายุ มีปัญหาโรคกระดูกพรุน มีการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ
การติดเชื้อของกระดูกสันหลัง (Spinal infection) ผู้ป่วยมักมีไข้ อาจมีภูมิต้านทานของร่างกายบกพร่อง
ภาวะการอักเสบของกระดูกสันหลังโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรค Ankylosing spondylitis ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะมีอาการปวดตอนกลางคืน มีข้อยึดติดในตอนเช้า อาการปวดอาจจะดีขึ้นหลังจากการออกกำลังกาย
ภาวะเส้นเลือดแดง aorta โป่งพอง (aortic aneurysm) ซึ่งมักพบได้ในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีประวัติเป็นโรคผนังหลอดเลือดตีบตัน มีก้อนที่ท้อง มีอาการปวดตอนกลางคืน และบางครั้งอาจจะมีอาการปวดร้าวลงขาได้
กลุ่มอาการของโรคที่มีลักษณะต้องระวังและรับการตรวจสอบหาสาเหตุเพิ่มเติม ได้แก่
- อายุมากกว่า 50 ปี
- อุจจาระลำบาก และกะปริดกะปรอย (Fecal incontinence)
- มีปัสสาวะลำบาก และกะปริดกะปรอย (Urinary incontinence)
- มีไข้
- ลักษณะการเดินที่ผิดปกติไป (Gait abnormality)
- มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน
- มีภาวะการกดภูมิคุ้มกัน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- มีประวัติการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าทางเส้นเลือด
- ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ยา
- เป็นโรคกระดูกพรุน
- มีอาการปวดหลายตำแหน่ง
- มีอาการปวดขณะพัก
- มีอาการปวดมากตอนกลางคืน
- มีอาการชาบริเวณรอบๆทวารหนัก (Saddle numbness)
- มีประวัติการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
- มีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ
- มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุมาก่อน
- นำ้หนักลดที่ไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการอ่อนแรงในส่วนของขา
ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งอาจเกิดจากพยาธิสภาพที่รุนแรงบริเวณกระดูกสันหลัง การตรวจด้วยภาพถ่ายรังสีและการตรวจเลือดจะสามารถช่วยในการวินิจฉัยผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆเหล่านี้เป็นอย่างมาก
การประเมินเพื่อดูสภาวะของระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- ระบบการรับความรู้สึกของร่างกาย (sensory systems)
- ระบบการเคลื่อนไหวของระยาวงค์ (Motor systems)
- ปฏกิริยาการตอบกลับอัตโนมัติของกล้ามเนื้อ (Deep tendon reflex)
การประเมินเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- ประเด็นของการได้ค่าชดเชยจากอาการปวดหลัง
- สภาวะของอารมณ์ของผู้ป่วย
- ปัญหาทางครอบครัว
- พฤติกรรมของความกลัว
- ความเชื่อที่ไม่เหมาะสม
- การที่มีผลกระทบทางระบบประสาทเช่น มีอาการชา อาการอ่อนแรงของระยางค์
- มีความไม่พึงพอใจต่องานที่ทำอยู่
- เคยมีประวัติปวดหลังมาก่อน และความรุรแรงของอาการปวดหลังค่อนข้างมาก
- ความคาดหวังในการรักษาที่ไม่เป็นจริง