สารพันปัญหาข้อเข่าเสื่อม
โดย ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์
โรคข้อเข่าเสื่อมนับว่าเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในผู้สูงอายุทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเวลาเดิน ขาโก่ง การทรงตัวของร่างกายไม่ดี ร่างกายเสียสมดุล มีโอกาสเกิดการหกล้มได้ง่าย มีผลทำให้เกิดกระดูกหักตามมาโดยเฉพาะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ ในคนไทยมีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมากถึง 6 ล้านคน
- มีการอักเสบของเยื่อบุข้อเข่า ทำให้ข้อเข่ามีอาการบวมตึง เนื่องจากเยื่อบุข้อที่อักเสบมีการสร้างน้ำไขข้อที่ไม่มีคุณภาพออกมาในปริมาณมากจึงทำให้เกิดอาการบวมตึงขึ้นภายในข้อเข่า คล้ายกับลูกโป่งที่ขยายตัวออกทำให้ข้อเข่าตึงมากขึ้นมีอาการปวดบริเวณหลังเข่าเหยียดข้อเข่าได้ไม่สุด
- เกิดกระดูกงอกรอบๆบริเวณข้อเข่าอันเนื่องมาจากเกิดความไม่มั่นคงของข้อเข่า ร่างกายตอบสนองด้วยการพยายามสร้างกระดูกรอบๆข้อเข่าขึ้นมาทดแทน กระดูกที่งอกขึ้นมาใหม่นั้นไปเบียดเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆบริเวณข้อเข่ามีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเพิ่มมากขึ้นในอิริยาบถ ที่งอเข่านาน เช่นท่านั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ เวลาลุกขึ้นยืนจึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดรอบๆบริเวณข้อเข่า
- มีการฉีกขาดของเส้นเอ็น และหมอนรองกระดูก มีการทำลายกระดูกที่บริเวณกระดูกใต้ต่อผิวข้อ
- กระดูกบริเวณข้อเข่าทั้ง 2 ด้าน มาเสียดสีกันทำให้มีอากาการปวดมากขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยนั่งนานๆแล้วจะลุกขึ้นผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนกับต้องพยายามตั้งไข่ก่อนที่จะเดิน ไม่เหมือนกับช่วงที่เป็นหนุ่มสาว อันเนื่องมาจาก โรคข้อเข่าเสื่อมมีการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งกระดูกอ่อนผิวข้อจะทำหน้าที่ลดแรงกระแทกบริเวณข้อเข่าและทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าเป็นไปอย่างคล่องตัว ดังนั้นเมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายลงจึงทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าลำบาก
- ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะมีหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดเข่าจะทำให้ผู้ป่วยเสียสมดุลในการเดินทำให้เกิดอาการเดินกะเผลกซึ่งจะส่งผลต่อการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกข้อต่อบริเวณสันหลัง มีผลทำให้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงเข่าและน่องร่วมด้วย
- มีการทำลายกระดูกบริเวณข้อเข่าเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความดันภายในโพรงกระดูกใต้ผิวข้อเข่า มีอาการปวดของกระดูกในตำแหน่งนั้นๆ
มีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง ควรรับประทานยาลดปวดอะไรบ้าง ยาที่ใช้มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?
ยาส่วนใหญ่ที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดรับประทานได้แก่
- ยาแก้ปวดพาราเซทตามอล เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี ผลข้างเคียงน้อย สามารถรับประทานยาพาราเซทตามอลเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ได้ถึง 6 เม็ดต่อวัน แต่กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคตับแข็ง และโรคตับอักเสบควรระมัดระวังในการใช้ยาในกลุ่มนี้ เพราะอาจจะมีผลทำให้อาการโรคตับที่เป็นอยู่แย่ลงได้
- ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษาอาการปวดให้แก่ผู้ป่วย เป็นกลุ่มยาที่มีประสิทธิภาพในการลดปวดได้ดี ปัญหาส่วนใหญ่ของยาในกลุ่มนี้มักจะมีผลข้างเคียงได้แก่ อาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร หรืออาจทำให้เกิดอาการเลือดออกภายในระบบทางเดินอาหารได้ ถ้าใช้ในผู้สูงอายุ หรือใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับการใช้ยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด ข้อห้ามสำหรับการใช้ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไต หรือไตวาย และผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง และกลุ่มผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยการทำบอลลูนที่หลอดเลือดหัวใจ
การฉีดยาสเตียรอยด์มีประโยชน์และโทษอย่างไรบ้าง?
ในกรณีที่ข้อเข่ามีการอักเสบมาก ร่วมกับตรวจร่างกายแล้วพบว่าข้อเข่าบวม ตึง มีน้ำในข้อเข่าซึ่งเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุข้อเข่า สามารถรักษาด้วยการดูดเอาน้ำในข้อเข่าที่มีการอักเสบออกมาได้ เพื่อลดความดันภายในข้อเข่า ร่วมกับการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบได้โดยตรง จะช่วยลดอาการปวดให้ผู้ป่วยได้อย่างมาก ในมาตรฐานการรักษาทั่วไปแนะนำว่าไม่ควรฉีดยาเข้าข้อเข่ามากกว่า 3-5 ครั้งต่อปี อย่างไรก็ตามการใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าข้อเข่าได้บ่อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของยาสเตียรอยด์ที่ฉีดเข้าข้อเข่า และความรุนแรงของโรคข้อเข่าอักเสบ ซึ่งถ้าในกรณีที่มีการทำลายของข้อเข่าอย่างมาก ร่วมกับอาการขาโก่งมากๆมักจะแนะนำผู้ป่วยรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การใช้ไม้เท้าในการช่วยเดินมีประโยชน์หรือไม่?
แนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมใช้ไม้เท้าในการช่วยพยุงตัวในขณะเดิน ให้ถือไม้เท้าด้านตรงข้ามกับข้อเข่าข้างที่ปวด เพราะจะช่วยในการแบ่งรับน้ำหนักของข้อเข่าข้างที่มีการอักเสบ มีอาการปวด เพราะส่วนใหญ่คนทั่วไปจะมีความเข้าใจผิดคิดว่าถ้ามีอาการปวดเข่าข้างไหนก็จะถือไม้เท้าข้างนั้น
ในกรณีที่มีอาการปวดเข่ามาเป็นระยะเวลานาน ขาโก่งมากๆ โดยเฉพาะตอนที่เดิน มีผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากๆ แนะนำให้ปรึกษากับแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งด้วยเทคโนโลยี และเทคนิคการผ่าตัดในปัจจุบัน ช่วยทำให้ผลลัพธ์ของการผ่าตัดได้ผลดีมาก และผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนปกติ และท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆได้ตามใจหมาย
ยากลุ่ม glucosamine และยานำ้หล่อเลี้ยงข้อเทียมชนิดฉีดจะเหมาะสมกับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะเบื้องต้น หรือในระยะแรกที่มีการเสื่อมของข้อไม่มากเท่านั้น แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมาก ขาโก่ง ภาพเอกซเรย์แสดงเห็นว่ากระดูกเข่า 2 ข้างชนกันแล้ว ยาทั้ง 2 ชนิดทั้ง glucosamine และ นำ้ยาหล่อเลี้ยงข้อเทียมชนิดฉีดก็ไม่มีประโยชน์กับผู้ป่วย และเป็นการสิ้นเปลืองเงินเกินความจำเป็น
สอบถามปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อได้ที่
Line OA: https://lin.ee/swOi91Q หรือ Line ID search @DoctorKeng
Website: www.taninnit.com
YouTube: https://www.youtube.com/results?search_query=taninnit+leerapun
Facebook: หมอเก่งไขปัญหาปวดกระดูกและข้อ
Blockdit: https://www.blockdit.com/doctorkeng