โรคปวดหลัง
โดย ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์
(แพทย์ออร์โทปิดิกส์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางกระดูกและข้อ)
ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นอาการปวดหลังส่วนใหญ่มักเกิดจากมีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นกระบวนการเสื่อมตามธรรมชาติ เมื่อเกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังอาจจะทำให้มีอาการปวดหลัง เกิดกระดูกงอกออกมาซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังอาจจะเกิดการกดทับเส้นประสาททำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วม อาการปวดร้าวลงขาบริเวณน่อง ร่วมกับมีอาการชาที่บริเวณขาและปลายเท้า บางครั้งถ้ามีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกหลายระดับก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดบริเวณน่องทั้ง 2 ข้างเมื่อเวลาเดิน อาการปวดจะทุเลาลงเมื่อผู้ป่วยนั่งพัก
อาการปวดหลังส่วนล่าง มี 2 ประเภท ได้แก่
- อาการปวดหลังแบบปฐมภูมิ (Primary Low Back Pain) หรือเกิดเนื่องจากโครงสร้างของกระดูกสันหลังเอง (mechanical LBP) ซึ่งไม่มีสาเหตุที่จำเพาะเจาะจงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังน้อยกว่า 3 สัปดาห์ มักสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำอยู่ที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการปวดเช่น การจาม การไอ หรือบิดตัวทำให้กระตุ้นเกิดอาการปวด
- อาการปวดหลังแบบมีพยาธิสภาพ (Secondary Underlying Pathology Low Back Pain) สามารถบ่งบอกพยาธิสภาพได้ชัดเจนเช่น มะเร็งลุกลามมาที่กระดูกสันหลัง การติดเชื้อของหมอนรองกระดูกสันหลัง
สัญญาณสำคัญของอาการปวดหลังที่บ่งบอกว่าต้องรับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ได้แก่
- ไข้
- มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน
- ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือมีปัสสาวะเล็ด
- มีอาการอ่อนแรงของขา หรือสูญเสียสมดุลของร่างกาย
- มีอาการปวดตอนกลางคืนหรือปวดขณะพัก อาจจะมีหรือไม่มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
- อาการชารอบๆทวารหนัก หรือสูญเสียความรู้สึกรอบๆทวารหนัก
- ได้รับผลประโยชน์ การชดเชยจากการปวดหลัง เกี่ยวกับอารมณ์ และการชดเชยการหยุดงาน
- มีการใช้สารเสพติดมาก่อน
- มีการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดกิน หรือฉีด
- ได้รับอุบัติเหตุ
- น้ำหนักลด
แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ทราบว่าสาเหตุของการปวดหลังนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น เกิดจากการเกร็งตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม การติดเชื้อ เนื้องอกของกระดูกสันหลัง แนวทางการดูแลเบื้องต้นได้แก่
- การใช้ถุงน้ำแข็งประคบบริเวณแผ่นหลังที่มีอาการปวด โดยประคบครั้งละ 15-20 นาที วันละประมาณ 4-6 ครั้ง ควรเอาน้ำแข็งมาห่อด้วยผ้าเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำแข็งสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้ หลังจากผ่านไป 1 วันแล้วอาจจะสลับกันระหว่างการประคบร้อน และการประคบเย็นประมาณ 20 นาที ทุก 3-4 ชั่วโมง
- แนะนำให้ปรับเปลี่ยนจัดท่าทางให้ถูกต้องเหมาะสมในการทำงาน
- ผู้ป่วยที่ยังกระฉับกระเฉงมักจะมีการฟื้นตัวหายได้ไวกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่หลีกเลี่ยงการทำกิจวัตรประจำวัน การออกกำลังกายสามารถค่อยๆทำได้หลังอาการปวดหลังประมาณ 72-96 ชั่วโมง
- เวลานอนให้นอนราบ เอาหมอนเล็กๆรองบริเวณใต้เข่า หรือนอนตะแคงแล้วเอาหมอนวางไว้ตรงบริเวณ ระหว่างขา 2 ข้างจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น
- การใช้ยาลดปวดพาราเซทตามอล หรือยาลดการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ มีประโยชน์ในการบรรเทาอาการปวดหลัง
- การฉีดยาเพื่อช่วยให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ
- การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่บริเวณก้นกบเข้าสู่โพรงประสาทเพื่อลดการอักเสบ และขยายข่องประสาท
การป้องกันอาการปวดหลัง
โดยปกติอายุมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกบางลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง สูญเสียความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตามยังมีวิธีที่จะช่วยชลอการเสื่อมของกระดูกสันหลังโดย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่จะทำหน้าที่ในการพยุงร่างกาย และเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย
- ยกของให้ถูกวิธี
- รักษาน้ำหนักของร่างกายให้เหมาะสม ระวังอย่าให้น้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
รูปภาพแสดงลักษณะของหมอนรองกระดูกสันหลังปกติ และภาพแนวตัดขวางแสดงความสัมพันธ์ของหมอนรองกระดูก และเส้นประสาท
รูปภาพแสดงการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้มีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท และทำให้ช่องทางเดินเส้นประสาทแคบลง
รูปภาพแสดงเส้นประสาท Sciatic ที่เกิดจากการรวมกันของรากประสาท และไปรับความรู้สึกและสั่งงานของกล้ามเนื้อบริเวณขา ดังนั้นเมื่อเกิดโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับรากประสาท จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงขาไปตามทางเดินของเส้นประสาท