โรคมือชาจากเส้นประสาทถูกกดทับ

โรคมือชา
ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

โรคมือชาจากเส้นประสาทถูกกดทับ เกิดจากอะไร?

โรคมือชานี้เกิดจากการที่เส้นประสาทที่พาดผ่านบริเวณข้อมือถูกกดทับ ซึ่งเส้นประสาทนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Median nerve ซึ่งเส้นประสาทเส้นนี้จะผ่านจากแขน ไปยังข้อมือเพื่อไปรับความรู้สึกที่บริเวณมือ ในขณะที่เส้นประสาทนี้ทอดผ่านบริเวณข้อมือจะลอดผ่านเอ็นที่ยึดบริเวณข้อมือ (ดังรูป) อาจมีสาเหตุบางประการที่อาจทำให้เส้นประสาทนี้ถูกกดทับได้ จึงทำให้มีอาการชา กล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือด้านนิ้วหัวแม่มืออาจจะแฟบลงเมื่อเทียบกับมืออีกข้างหนึ่ง และร่วมกับมีอาการปวด และใช้มือหยิบจับสิ่งของไม่ถนัด

อะไรเป็นสาเหตุ?
สิ่งใดก็ตามที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการบวม และการระคายเคืองของเยื่อบุข้อที่อยู่รอบๆเส้นเอ็นภายในช่องที่เส้นประสาทลอดผ่าน ทำให้เกิดการกดต่อเส้นประสาท เช่น

  • เกิดการกระแทกที่บริเวณข้อมืออยู่เป็นประจำ เช่นใช้เครื่องตัดหญ้า เครื่องเจาะสกรู
  • กระดูกข้อมือหัก หรือการหลุดเคลื่อนของข้อ
  • ข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • ผู้ป่วยเบาหวาน
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์
  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนสัมพันธ์กับการหมดประจำเดือน

มีวิธีการวินิจฉัยโรคนี้อย่างไร?
โดยแพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จาก อาการ และอาการแสดงดังนี้

  • มีอาการชา และรู้สึกซ่าส์ในบริเวณมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการมักจะเกิดในตอนกลางคืน ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับท่าทางในการนอน และหลังจากการใช้มือข้างนั้นๆ
  • การรับความรู้สึกที่บริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนางลดลง ทำให้หยิบจับของไม่ถนัด
  • มีอาการรู้สึกแปล๊บๆ หรือคล้ายกับไฟฟ้าช็อตเมื่อแพทย์ทำการตรวจโดยการเคาะลงตรงข้อมือในบริเวณที่มีเส้นประสาท medianทอดผ่าน
  • อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นถ้าผู้ป่วยงอมือเข้าหาท้องแขนเป็นเวลา 1 นาที
  • ถ้าเส้นประสาทนี้ถูกกดทับเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือด้านนิ้วหัวแม่มือแฟบลง

มีวิธีการรักษาอย่างไร?
ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยอาจจะให้การรักษาโดยวิธีดังต่อไปนี้

  • ใส่เครื่องพยุงข้อมือในช่วงเวลากลางคืน เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ข้อมืองอเวลานอน และช่วยให้เยื่อบุข้อมือ และเส้นเอ็นที่อักเสบยุบบวม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ
  • ยาลดการอักเสบชนิดรับประทาน
  • ถ้าอาการเป็นมากขึ้น แพทย์อาจจะแนะนำให้ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในบริเวณที่เส้นประสาททอดผ่าน ซึ่งยานี้จะแพร่กระจายไปยังบริเวณเยื่อบุผิวข้อ และเส้นเอ็นที่มีการอักเสบ และบวม ทำให้ยุบบวมลง การกดเส้นประสาทก็น้อยลงปริมาณของยาที่ใช้ฉีดเป็นจำนวนน้อย และไม่ได้มีอันตรายที่รุนแรง

การรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้จะได้ผลดีในกรณีที่เส้นประสาทไม่ถูกกดทับมากนัก ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นก็อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยตัดเอาส่วนของพังผืด เส้นเอ็นในส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก หลังผ่าตัดอาการก็จะดีขึ้น อาการชาลดลงแต่อาจจะยังคงอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาการปวดลดลง


สอบถามปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อได้ที่
Line OA: https://lin.ee/swOi91Q หรือ Line ID search @DoctorKeng

Website: www.taninnit.com
YouTube: https://www.youtube.com/results?search_query=taninnit+leerapun
Facebook: หมอเก่งไขปัญหาปวดกระดูกและข้อ
Blockdithttps://www.blockdit.com/doctorkeng

Message us

Sanpakoi Clinic ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า