โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน
โดย ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

 “การสูญเสียมวลกระดูกไม่แสดงอาการใดออกมา ประชาชนทั่วไปมักไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุนจนกระทั่งกระดูกอ่อนแอลง เมื่อได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย หรือหกล้มก็ทำให้เกิดกระดูกหัก”

โรคกระดูกพรุนคืออะไร?
โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่มีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างต่อเนื่อง และเสื่อมสลายทางโครงสร้างของกระดูกทำให้กระดูกบางลง มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย โรคนี้ค่อยๆเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน มักไม่ค่อยแสดงอาการจนกระทั่งมีการหักของกระดูกเกิดขึ้น

รูปภาพ 1 ผู้ป่วยที่มีอายุมากขึ้นและเป็นโรคกระดูกพรุนร่วมกับมีการยุบตัวของกระดูกสันหลังทำให้ตัวเตี้ยลงและหลังค่อม

โดยปกติร่างกายจะมีการสะสมมวลกระดูกตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งมีมวลกระดูกสูงสุดในช่วงอายุประมาณ 20-30 ปี ซึ่งหลังจากนั้นความหนาแน่นของมวลกระดูกจะคงที่ หลังจากนั้นเมื่อมีอายุประมาณ50 ปี ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าเพศหญิงจะมีอัตราการสูญเสียของมวลกระดูกมากกว่าในเพศชาย เนื่องจากผลของการหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ยับยั้งการสร้างกระดูกนั้นมีปริมาณที่ลดลง ทำให้เกิดการทำลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูกมีผลทำให้มวลกระดูกบางลง ถ้ากระดูกบางลงจนถึงจุดหนึ่งจะทำให้เกิดกระดูกหักตามมา ซึ่งอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

รูปกราฟ แสดงความสัมพันธ์ของมวลกระดูกที่เพิ่มขึ้นในช่วงวัยเด็ก และลดลงในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยพบว่าในเพศหญิงมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็วมากกว่าในเพศชาย เนื่องมาจากการหมดประจำเดือน ทำให้เพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่าเพศชาย และมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้มากขึ้น

โรคกระดูกพรุนมีอาการอย่างไร?
โรคกระดูกพรุนมักถูกเรียกว่า “มหันตภัยเงียบ” เนื่องจากการสูญเสียมวลกระดูกไม่แสดงอาการใดออกมา ประชาชนทั่วไปมักไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุนจนกระทั่งกระดูกอ่อนแอลง เมื่อได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย หรือหกล้มก็ทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่ายโดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพก, กระดูกสันหลัง, และกระดูกบริเวณข้อมือผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดมากจนกระทั่งไม่สามารถทำงานและทำกิจวัตรประจำวันได้ เมื่อกระดูกสันหลังหัก หรือยุบลงมาผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง, ตัวเตี้ย, หลังค่อม

รูปภาพ 3 แสดงโครงสร้างของกระดูกปกติ และโครงสร้างของกระดูกพรุน และการยุบตัวของกระดูกสันหลัง

อะไรเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ?
สาเหตุที่แท้จริงของโรคกระดูกพรุนไม่ทราบแน่นอน อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้แก่ เพศหญิง, ประจำเดือนหมดก่อนวัยอันควร หรือได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออก, ได้รับอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ, สูบบุหรี่, ดื่มสุราและกาแฟมาก, ได้รับยาสเตียรอยด์, ยารักษาโรคไทรอยด์, เป็นโรครูมาตอยด์ พบว่า 50% ของผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปีเกิดกระดูกหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุน

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่?
แพทย์สามารถตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกโดยใช้เครื่องเอกซเรย์(DEXA)วัดความหนาแน่นของมวลกระดูกที่สะโพก, กระดูกสันหลัง, และกระดูกข้อมือ ซึ่งเป็นวิธีการวัดมวลกระดูกด้วยเทคนิคพิเศษโดยใช้รังสีจำนวนน้อยเพื่อหาปริมาณของมวลกระดูก

มีวิธีป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนอย่างไร?
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหัก โดย
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
2. รับประทานแคลเซียม ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก โดยมีความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุคือ

  • เพศชายและเพศหญิงอายุ 9-18 ปี ต้องการแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เพศชายและเพศหญิงอายุ19-50 ปี ต้องการแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตรต้องการแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เพศชายและเพศหญิงอายุมากกว่า 50 ปี ต้องการแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • อาหารที่มีแคลเซียมสูงได้แก่ โยเกิร์ต, นม 1 แก้ว(250 cc) มีแคลเซียม 300มก., ปลากระป๋อง, ผักบร๊อคเคอรี่, ผักใบเขียว
  • วิตามินดี ร่างกายต้องการวิตามินดีวันละ 200-600iu
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูกเช่น การเดิน, การวิ่ง, การวิ่งบนสายพาน การรำมวยไท้เก๊กเป็นการช่วยฝึกความสมดุลของร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้หกล้มได้ง่าย

ถ้าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วมีวิธีการรักษาอย่างไร?
หลักการในการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ได้แก่

  • ลดปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาข้างต้น
  • ป้องกันไม่ให้หกล้ม เพราะจะทำให้เกิดกระดูกหักง่าย
  • รับประทานแคลเซียม วิตามินดีให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
  • เมื่อเกิดโรคกระดูกพรุนแล้วก็มีการใช้ยาในการรักษาเพื่อชลอการสูญเสียมวลกระดูกไม่ให้เกิดมากขึ้น และลดอัตราการเกิดกระดูกหัก ปัจจุบันที่ใช้ในการรักษาได้แก่
    • ยายับยั้งการทำลายกระดูก
      – ยา celvista ซึ่งจะช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดกระดูกสันหลังยุบ
      – ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนท(bisphosphonate) ซึ่งได้แก่
      ยากลุ่มที่สามารถรับประทานแบบสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ได้แก่ ฟอสซาแมก (fosamax), แอคโตเนียว (Actonel)
      ยาลดการทำลายกระดูกชนิดรับประทานเดือนละ 1 ครั้งได้แก่ บอนวิวา (Bonviva)
      ซึ่งยาในกลุ่มนี้สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดกระดูกหักที่กระดูกสันหลัง และกระดูกหักที่บริเวณสะโพกได้
    • ยา Strontium ซึ่งมีคุณสมบัติที่ช่วยยับยั้งการทำลายกระดุก และช่วยสร้างมวลกระดูก
    • ยาฉีดกระตุ้นการสร้างกระดูกโดยตรง (parathyroid hormone, Forteo) ซึ่งจะช่วยเพิ่มการสร้างมวลกระดูก
Message us

Sanpakoi Clinic ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า