กายบริหารสำหรับผู้ป่วยปวดหลัง

กายบริหารสำหรับผู้ป่วยปวดหลัง

กายบริหารสำหรับผู้ป่วยปวดหลัง

ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

ภาวะปวดหลังเรื้อรัง ทำให้เกิดการฝ่อลีบ ลดความแข็งแรง ความทนทาน สูญเสียการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังในการควบคุมการทรงท่าและการเคลื่อนไหว นำไปสู่ภาวะปวดเรื้อรังหรือเมื่อรักษาหายแล้วก็ยังกลับเป็นซ้ำได้อีก ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าการออกกำลังกายในรูปแบบจำเพาะให้มีการทำงานของกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังพร้อมกัน (stabilizing back exercise) โดยเน้นฝึกกล้ามเนื้อหลังส่วนลึก (multifidus) และกล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนลึก (trnsversus abdominis) ให้ทำงานประสานสัมพันธ์กัน มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้มีความแข็งแรง ความทนทาน การเรียนรู้การควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงท่าของกระดูกสันหลังให้ถูกต้องในขณะที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นผลให้บรรเทาอาการปวดหลัง ลดความบกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวันและป้องกันความบกพร่องทางกายอันนำไปสู่ความบกพร่องทางสังคม เช่นไม่สามารถนั่งทำงานได้ตามปกติเพราะปวดหลังจนต้องลาออกจากงาน อีกทั้งช่วยป้องกันการบาดเจ็บต่อหลังจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

วิธีการฝึกจะฝึกระดมการทำงานของกล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนลึก (Transverse abdominis) ร่วมกับกล้ามเนื้อหลังส่วนลึก (Multifidus) โดยให้มีการหดตัวเพียงเล็กน้อยหรือเพียง 25% ของความสามารถในการหดตัวสูงสุด

เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทั้งสองกลุ่มให้ทำงานได้ดีมักฝึกร่วมกับ กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic floor) และกล้ามเนื้อหายใจ (Diaphragm) เนื่องจากกล้ามเนื้อทั้งหมดนี้มีบทบาทร่วมกันในการให้ความแข็งแรงต่อกระดูกสันหลังและอุ้งเชิงกราน

วิธีกายบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนลึกและกล้ามเนื้อหลังส่วนลึก

  1. ฝึกเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนลึกแยกออกจากกล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนที่อยู่ตื้น ฝึกการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องในท่ายืน พร้อมทั้งตรวจดูด้วยการคลำที่จุดเกาะของกล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนลึก (Transverses abdominis) ว่าเกร็งได้ถูกต้องหรือไม่ วิธีการคลำให้วางนิ้วชี้และนิ้วกลางในต่อปุ่มกระดูกอุ้งเชิงกรานทางด้านหน้า
    วิธีการฝึก หายใจเข้าท้องป่องในจังหวะหายใจออกเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง (ดึงสะดือเข้าหาลำตัว) พร้อมกับขมิบ อุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อหลัง ถ้าทำได้ถูกต้องควรจะคลำได้ถึงความตึงตัวของเอ็นกล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนลึก ทำซ้ำ 8-10 ครั้ง
  2. อยู่ในท่าคลานสี่ขา วางมือให้อยู่แนวเดียวกับข้อไหล่ ข้อศอกงอเล็กน้อย เข่าทั้งสองอยู่แนวเดียวกับข้อสะโพก
    วิธีการฝึก หายใจเข้าท้องป่องในจังหวะหายใจออกเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง (ดึงสะดือเข้าหาลำตัว) พร้อมกับขมิบ อุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อหลัง ทำซ้ำ 8-10 ครั้ง
  3. ฝึก ในท่านอนหงาย งอเข่าและสะโพกทั้งทั้งสองข้าง วางผ้าขนหนูที่พันเป็นแท่งหรือหมอนไว้ระหว่างขาทั้งสองข้าง
    วิธีการฝึก หายใจเข้าท้องป่องในจังหวะหายใจออกเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง (ดึงสะดือเข้าหาลำตัว) พร้อมกับขมิบ อุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อก้นโดยวิธีการหนีบผ้าขนหนูหรือหมอนโดยไม่ให้เกิดการขยับ ยก บิดหรือหมุนของก้น อุ้งเชิงกรานและหลังส่วนบั้นเอว ทำซ้ำ 8-10 ครั้ง
  4. ฝึก ในท่านอนหงาย งอเข่าและสะโพกทั้งทั้งสองข้าง วางผ้าขนหนูที่พันเป็นแท่งหรือหมอนไว้ระหว่างขาทั้งสองข้าง มือทั้งสองข้างวางประสานแตะที่ท้ายทอย
    วิธีการฝึก หายใจเข้าท้องป่องในจังหวะหายใจออกเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง (ดึงสะดือเข้าหาลำตัว) พร้อมกับขมิบ อุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อก้นโดยวิธีการหนีบผ้าขนหนูหรือหมอน พร้อมทั้งเกร็งยกศรีษะให้พ้นพื้นเพียงเล็กน้อยโดยไม่ใช้มือทั้งสองช่วยดันศีรษะ แล้ววางศรีษะกลับที่เดิม ขณะที่ทำต้องไม่ให้เกิดการขยับ ยก บิดหรือหมุนของก้น อุ้งเชิงกรานและหลังส่วนบั้นเอว ทำซ้ำ 8-10 ครั้ง
  5. ฝึก ในท่านอนคว่ำ วางผ้าขนหนูที่พันเป็นแท่งหรือหมอนไว้ระหว่างขาทั้งสองข้าง แขนทั้งสองข้างวางข้างลำตัว
    วิธีการฝึก หายใจเข้าท้องป่องในจังหวะหายใจออกเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง (ดึงสะดือเข้าหาลำตัว) พร้อมกับขมิบ อุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อก้นโดยวิธีการหนีบผ้าขนหนูหรือหมอน พร้อมทั้งเกร็งยกศีรษะให้พ้นพื้นเพียงเล็กน้อย ลงน้ำหนักส่วนหนึ่งที่มือทั้งสองข้างแล้ววางศีรษะกลับที่เดิม ขณะที่ทำต้องไม่ให้เกิดการขยับ ยก บิดหรือหมุนของก้นอุ้งเชิงกรานและหลังส่วนบั้นเอว ทำซ้ำ 8-10 ครั้ง
  6. ฝึก ในท่าคลานสี่ขาพร้อมกับยกแขนหรือขาในขณะที่ฝึกเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังเป็นการเพิ่มความยากในการบริหาร
    วิธีการฝึก หายใจเข้าท้องป่องในจังหวะหายใจออกเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง (ดึงสะดือเข้าหาลำตัว) พร้อมกับขมิบ อุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อก้นโดยวิธีการหนีบผ้าขนหนูหรือหมอน พร้อมทั้งยกแขนขึ้น แล้วกลับสู่ท่าเริ่มต้น ขณะที่ทำต้องไม่ให้เกิดการขยับ ยก บิดหรือหมุนของก้น อุ้งเชิงกรานและหลังส่วนบั้นเอว ทำซ้ำ 8-10 ครั้ง
  7. ฝึกในท่าย่อเข่าขึ้นลง ยืนกางขางทั่งสองข้างให้ห่างกันเท่ากับระยะความกว้างของไหล่ ลงน้ำหนักขาทั้งสองข้างเท่ากัน รักษาแนวของหลัง สะโพกและเข่าให้ตรง
    วิธีการฝึก หายใจเข้าท้องป่องในจังหวะหายใจออกเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง (ดึงสะดือเข้าหาลำตัว) พร้อมกับขมิบอุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อก้น พร้อมทั้งย่อเข่าลงประมาณ 30-45 องศาแล้วกลับที่เดิม ขณะทำให้รักษาหลังให้ตรง ทำซ้ำ 8-10 ครั้ง
  8. เพื่อให้วิธีการฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังสัมพันธ์กับกิจกรรมการเคลื่อนใหวในชีวิตประจำวัน ควรฝึกการควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อเพื่อควบคุมความมั่นคงของกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวและอุ้งเชิงกรานให้สัมพันธ์กับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะเดิน ยกของ ขึ้นลงบันไดเป็นต้น
    วิธีการฝึก ขณะเดินให้เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ก้นและอุ้งเชิงกรานโดยรักษาระดับหลังให้ตรง เมื่อเริ่มฝึกใหม่ให้ฝึกเดินพร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นระยะ 5-10 เมตรโดยเฉลี่ยและให้เพิ่มระยะทางขึ้นตามความสามารถของแต่ละบุคคลปริมาณของการฝึกกายบริหารที่เหมาะสม ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์จึงจะเห็นผลการฝึกและควรกายบริหารอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย เพราะเมื่อหยุดทำผลจากการกายบริหารก็จะกลับสู่สภาพเดิมระดับความหนัก: ปานกลาง
    ระยะเวลาที่ฝึก: 20-30 นาทีต่อวัน โดยแต่ละท่าควรทำซ้ำ 8-10 ครั้ง
    ความถี่: ควรฝึก 3-5 วันต่อสัปดาห์

ข้อแนะนำ

ระยะฝึกการบริหารเริ่มแรกจะมีความยากลำบากในการกำหนดลมหายใจเข้าออก ผู้ฝึกไม่ควรกังวลว่าจะต้องกำหนดให้ถูกต้องทุกครั้ง หัวใจหลักของการฝึกคือการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนลึกให้ถูกต้องในขณะฝึกแต่ละท่า

ข้อควรระวัง

ไม่ควรกลั้นหายใจในขณะการบริหาร


หนังสืออ้างอิง

1. Richardson CA, Jull GA. Muscle control-pain control. What exercises would you prescribes? Manual Therapy 1995;1:2-10.

2. Hodges PW, Richardson CA. Inefficient muscular stabilization of the lumbar spine associated with low back pain: A motor control evaluation of transversus abdominis. Spine1996;21(22):2640-2650.

3. Richardson CA, Hodges PW, Hides J. Therapeutic exercise for lumbopelvic stabilization. New York: Churchill Livingston, 2004: 175-183.

Message us

Sanpakoi Clinic ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า