ปวดหลัง สาเหตุและการรักษา

ปวดหลัง
โดย หมอเก่ง ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

โรคปวดหลัง หรือปวดชาร้าวลงสะโพก ลงขา ปวดชาฝ่าเท้า นับว่าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทุกเพศ โดยเฉพาะเมื่อมีการยกของหนัก หรือก้มยกของผิดท่า สาเหตุที่สำคัญ ของอาการปวดหลังนี้คือปัญหาของหมอนรองกระดูกสันหลังมีการเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท

ปกติหมอนรองกระดูกสันหลังจะคั่นอยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลังนี้จะมีอยู่ 2 ชั้น หมอนรองกระดูกจะทำหน้าที่ลดแรงกระแทกที่กระทำต่อกระดูกสันหลัง และเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ปริมาณน้ำในหมอนรองกระดูกชั้นนอกจะค่อยๆลดปริมาณลงสูญเสียสภาพความยืดหยุ่นทำให้มีโอกาสเกิดการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูกชั้นในออกมาด้านนอกได้ง่ายยิ่งขึ้นเมื่อไปก้มยกของหนัก

ปัญหาของอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นส่วนมากเกิดจาก

  1. กระบวนการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง
  2. พฤติกรรมที่ทำให้เกิดการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังได้ง่าย เช่น การก้มยกของหนัก การนั่งกับพื้น การกัมตัวและจามหรือไออย่างรุนแรง การนอนคว่ำ
  3. อุบัติเหตุ เช่น การลื่นหกล้ม

ตัวอย่างพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการอาการปวดหลัง

แนวทางการวินิจฉัย

  • แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วย หาจุดตำแหน่งที่มีอาการปวด ตรวจประเมินสภาพการทำงานของเส้นประสาท
  • การส่งตรวจเอกซเรย์เพื่อดูลักษณะของแนวกระดูก ช่องทางเดินของเส้นประสาท และการเคลื่อนตัวของกระดูก
  • การส่งตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า MRI จะสามารถช่วยระบุลักษณะการเสื่อมของหมอนรองกระดูก และการกดทับเส้นประสาทได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งอาจจะตรวจพบลักษณะความผิดปกติอื่นๆ เช่น มะเร็ง การติดเชื้อของกระดูกสันหลัง

การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI 

แนวทางการรักษา

  • การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงพฤติกรรม ที่อาจจะส่งผลทำให้ข้อต่อกระดูกสันหลังรับแรงกระแทกมากขึ้น เช่น การนั่งกับพื้น การนั่งยองๆ การก้มยกของหนัก และท่านอนคว่ำ
  • การรักษาด้วยยารับประทานเพื่อลดการอักเสบ ลดอาการปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • การรักษาด้วยการฉีดยาเข้าโพรงประสาทด้วยการใช้เครื่อง Ultrasound ระบุตำแหน่งในการฉีดยา

การฉีดยาเข้าโพรงประสาทด้วยการใช้เครื่อง Ultrasound ระบุตำแหน่งในการฉีดยา

    • ยาที่ใช้ฉีดคือยาลดการอักเสบชนิดสเตียรอยด์ และยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งในช่วงแรกของอาการปวดหลังถ้ามีอาการปวดมากก็ใช้ยาที่เป็นสะตียรอยด์ในปริมาณที่ไม่มากร่วมกับยาชา ฉีดเข้าไปในโพรงประสาทที่บริเวณก้นกบ
    • ระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์เพื่อบรรเทาปวดจะได้ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ถ้าเป็นยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์สามารถฉีดต่อเนื่องกันได้เมื่อมีอาการปวด ไม่มีการสะสมเหมือนยาลดการอักเสบชนิดสเตียรอยด์
    • เนื่องจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังทำให้เกิดการอักเสบภายในโพรงประสาท ระยะเวลาที่ใช้จะประมาณ 7-8 เดือน ซึ่งคนไข้มากกว่าร้อยละ 80 จะมีอาการดีขึ้น และไม่ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด
    • ยาที่ฉีดได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นกับว่า
      • หมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมามีขนาดใหญ่มากน้อยเพียงใด
      • ช่องทางเดินประสาทแคบมากหรือไม่
      • มีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังหลายระดับหรือไม่
      • พฤติกรรมของผู้ป่วย ได้มีการปรับพฤติกรรมลดแรงที่กระทำต่อกระดูกสันหลังหรือไม่ ถ้าไม่ได้ลดอาการก็จะกลับมาเป็นอีก
  • มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง ปวดชาร้าวลงขาสามารถให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจด้วยวิธีดังกล่าว จึงสามารถลดการรักษาด้วยการผ่าตัดลงได้ และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามก็คงต้องปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยดังที่กล่าวมาแล้วด้วยเพื่อลดการเกิดซ้ำของอาการปวด

สอบถามปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อได้ที่

Message us

Sanpakoi Clinic ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า