ปวดหลัง ป้องกันได้โดยปรับพฤติกรรม

ปวดหลัง ป้องกันได้โดยปรับพฤติกรรม

โดย ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

ปัญหาเรื่องอาการปวดหลังนับว่าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตของทุกท่านคงเคยมีปัญหาเรื่องอาการปวดหลัง

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดเนื่องมาจากกระบวนการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังและบริเวณข้อต่อของกระดูกสันหลัง ในวัยหนุ่มสาวหมอนรองกระดูกทำหน้าที่ในการลดแรงกระแทกระหว่างกระดูกสันหลังในแต่ละระดับ

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น หมอนรองกระดูกจะเกิดการเสื่อม ปริมาณน้ำที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกจะลดปริมาณลง ทำให้ความยืดหยุ่นและการทำงานของหมอนรองกระดูกไม่ดี ร่วมกับการเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง

Guy has pain in the back

ปัจจัยในเรื่องของน้ำหนักร่างกายก็มีผลเป็นอย่างมาก ในคนที่มีน้ำหนักมากจะทำให้ข้อต่อกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังรับน้ำหนักมากกว่าปกติจึงมีผลทำให้อุบัติการณ์ในการปวดหลังเพิ่มมากขึ้นในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก

ผมก็อยากแนะนำวิธีการบางประการในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหลัง พฤติกรรมที่ควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลัง และป้องกันอาการปวดหลังได้แก่

การนั่ง

  • ไม่ควรนั่งกับพื้น ทั้งในท่านั่งขัดสมาธิ คุกเข่า พับเพียบ เพราะการนั่งกับพื้นจะทำให้น้ำหนักส่วนใหญ่ไปลงที่กระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว ทำให้กระดูกหลังรับน้ำหนักมากและทำให้ปวดหลังเพิ่มมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้ต่ำ เพราะการนั่งเก้าอี้ต่ำๆ มีลักษณะคล้ายกับการนั่งพื้น จะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น เช่นการนั่งซักผ้าเป็นระยะเวลานาน การนั่งทอผ้า การนั่งปลูกดอกไม้ ทำสวนเป็นระยะเวลานาน จะมีผลทำให้เกิดอาการปวดหลังเพิ่มมากขึ้น
  • ควรนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงอย่างถูกวิธี
  • ควรนั่งให้ชิดขอบในของเก้าอี้โดยหลังไม่โก่งและให้หลังชิดพนักพิง ระดับความสูงของเก้าอี้นั่งให้เท้าแตะพื้น รองรับก้นละโคนขาได้ทั้งหมด
  • ในกรณีที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานไม่ควรนั่งเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพิงหลัง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหดเกร็งอยู่ตลอดเวลาเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของอาการปวดหลัง

การยกของ

  • อย่าก้มลงยกของเพราะกล้ามเนื้อหลังจะเป็นส่วนออกแรง ทำให้เกิดอาการอักเสบ ฉีดขาดได้
  • ควรย่อเข่าลงนั่ง ยกของให้ชิดตัว แล้วลุกด้วยกำลังขา
  • การทำงานกับจอคอมพิวเตอร์
  • การนั่งหลังโก่ง นั่งบิดๆ นั่งก้มมองจอคอมพิวเตอร์ การนั่งแบบที่กล่าวมาเป็นการเพิ่มแรงกระทำต่อ กระดูกหลังมากที่สุด และการนั่งนานๆบวกกับความตึงเครียดทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังเกิดการเกร็งจะยิ่งทำให้ปวดหลังมากขึ้น
  • วิธีการนั่งใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้อง
  • ต้องนั่งหลังตรง เพื่อลดอาการตึงที่ช่วงหลัง
  • วางเท้าให้ให้ราบไปกับพื้นทั้ง 2 ข้าง ถ้านั่งไขว่ห้างหรือวางขาไว้ข้างเดียวก็จะส่งผลในเรื่องความดันที่ส่งลงไปที่ขา ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
  • ปรับระดับหน้าจอให้อยู่ตรงหน้าพอดี ให้สายตามองตรงไปด้านหน้า ไม่เงย ไม่ก้ม จะช่วยลดอาการตึงหรือเมื่อยล้าบริเวณกล้ามเนื้อช่วงคอ,ไหล่ได้ แขน ช่วงที่ใช้งานพิมพ์คีย์บอร์ด ให้เก็บศอกใกล้ตัว เพื่อช่วยผ่อนคลายหัวไหล่และแขน ลดอาการตึงและเมื่อยล้าจากงานได้
  • ควรลุกเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสายทุกๆ 30-45 นาที

น้ำหนัก

น้ำหนักตัวมากเกินทำให้มีอาการปวดหลังได้ เนื่องจากจะทำให้ข้อต่อของกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นมีผลทำให้เกิดการเสื่อม และการอักเสบเพิ่มมากขึ้น วิธีการในการลดน้ำหนักได้แก่

  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วิธีการที่ดีที่สุดคือการใช้เครื่องออกกำลังกายเดินวงรี ข้อดีของเครื่องคือลดแรงกระแทกที่กระทำกับบริเวณข้อเข่า เนื่องจากเป็นการเคลื่อนไหวของขา โดยที่เท้าวางชิดกับแผ่นรองทำให้ลดแรงกระแทกที่กระทำกับข้อเข่า
  • เรื่องของการรับประทานอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง โดยเฉพาะอาหารประเภท ข้าวเหนียว ขนมปัง ข้าวจ้าว ควรรับประทานในปริมาณที่ไม่มาก หรือควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด และที่มีกะทิเช่น ข้าวเหนียวทุเรียน หรือรับประทานในปริมาณที่ไม่มาก
  • ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานมากๆ เพราะน้ำตาลที่อยู่ในผลไม้จะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะผลไม้ที่เป็น สีเหลืองเช่นทุเรียน มะม่วง ขนุน สับปะรด รวมทั้งองุ่น ควรรับประทานผลไม้เช่น มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่
  • ห้ามนอนคว่ำ เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากที่สุด โดยเฉพาะระดับเอวทำให้ปวดหลังได้ ควรนอนตะแคง โดยให้ขาล่างเหยียดตรง เข่างอ ตะโพกและเข่ากอดหมอนข้างไว้
  • สำหรับท่านที่ชอบไปนวด ไม่ควรนอนคว่ำแล้วให้นวดหลังเพราะจะทำให้หลังแอ่นและมีอาการปวดเพิ่มมากยิ่งขึ้น

การใช้รองเท้าส้นสูง

  • การยืนส้นสูงแบบเขย่งเท้าตลอดเวลาจะทำให้หลังแอ่นมากขึ้น น้ำหนักของร่างกายกระจายตัวผิดปกติ กล้ามเนื้อหลังเกร็งทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้รองเท้าส้นสูง

อื่น ๆ

  • การงดสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่มีผลทำให้หมอนรองกระดูกขาดออกซิเจน เกิดกระบวนการเสื่อมเร็วมากกว่าปกติและยุบตัวเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดหลังมากกว่าคนทั่วไป
  • ควรหลีกเลี่ยงการก้มตัวทำงาน เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังบริเวณส่วนเอวรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น และมีอาการปวดโดยเฉพาะท่านผู้สูงอายุเช่น ท่าก้มลงทำสวน ปลูกต้นไม้ และโดยเฉพาะท่านที่มีอายุมากและเป็นโรคกระดูกพรุนร่วมด้วยควรต้องหลีกเลี่ยงการก้มตัวให้มากๆ เพราะในโรคกระดูกพรุนจะมีกระดูกที่บางตัวลง การก้มมากๆอาจจะทำให้เกิดการยุบตัวของกระดูกสันหลังลงได้

อาการปวดหลังสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง การลดน้ำหนัก การออกกำลังที่ถูกวิธีอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ห่างไกลจากโรคปวดหลัง ชีวิตมีความสุขครับ


สอบถามปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อได้ที่

Message us

Sanpakoi Clinic ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า