
เคยสงสัยกันไหมว่าอาการปวดนี้ จริงๆแล้วเราปวดบริเวณไหนกันแน่ สำหรับคนที่มี อาการปวดคอ บ่า ไหล่ แต่บอกสาเหตุและบริเวณ ที่รู้สึกปวดได้ไม่ถูกจุด อาจเป็นภัยเงียบที่คุณมองข้ามและละเลยอาการปวด จนนำไปสู่อาการปวดเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
วันนี้หมอเก่งจะมาบอกวิธีการสังเกตอาการปวดของตัวเองเบื้องต้น สำหรับคนที่มีอาการ ปวดคอ บ่า ไหล่ ซึ่งหลายคน มักจะมีอาการพร้อมกัน ในหลายจุดได้
- อาการปวดคอ
คือ การปวดบริเวณตั้งแต่ท้ายทอยไปจนถึงต้นคอ
มีได้หลายสาเหตุ ได้แก่
- การอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อรอบข้อต่อ จากอุบัติเหตุ หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท
- อายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้กระดูกต้นคอเสื่อม
- การทำกิจกรรมต่างๆอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น นั่งทำงานไม่ถูกลักษณะเป็นเวลานานทำให้ต้องเกร็งคอ, หรือทำงานที่ต้องก้มๆเงย ใช้งานคอหนัก และเป็นประจำในบางอาชีพ รวมไปถึงการนอนตกหมอน
- อาการปวดบ่า
จะเป็นอาการที่ปวดตั้งแต่ต้นคอจนเกือบถึงบริเวณไหล่ มักเกิดอาการตึงและชา สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมสรีระ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การนั่ง เดิน ยืน นอน ที่อาจส่งผลให้เราเกร็งกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน เช่น การนั่งทำงานอย่างไม่ถูกหลัก คุณอาจนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน โดยมีอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม การวางโต๊ะทำงาน หรืออุปกรณ์ ในการทำงานต่ำหรือสูงเกินไปไม่เข้าสรีระร่างกาย แม้กระทั่ง การต้องนั่งขับรถระยะทางไกลเป็นเวลานานๆ ก็เป็นอีกสาเหตุของอาการปวดเมื่อยและตึงบริเวณบ่าของคุณ
- อาการปวดไหล่
อาการปวดไหล่และปวดบ่ามีความใกล้เคียงกันมาก และบางครั้งอาจเกิดอาการขึ้นพร้อมกัน โดนที่มักจะเกิดอาการปวดบริเวณช่วงโค้งของไหล่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดเมื่อยไหล่ เจ็บแปลบ ขยับเขยื้อนไหล่ได้ลำบาก โดยคุณสามารถสังเกตอาการตัวเองได้จาก การลองหมุนและเคลื่อนหัวไหล่ของคุณอย่างช้าๆ จะมีอาการตึง เจ็บแปลบที่บริเวณไหล่ โดยการปวดหรือบาดเจ็บบริเวณไหล่ มักมาจากการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม หรือใช้งานบริเวณหัวไหล่ แขน มากเกินไปทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ และอีกหนึ่งสาเหตุที่หลายคนมักมองข้ามคือความเครียดที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวด เจ็บแปลบ บริเวณหัวไหล่ได้
- ปวดคอ บ่า ไหล่ บ่อยๆ อย่าปล่อยให้เรื้อรังควรรีบพบแพทย์
จะเห็นได้ว่านี่เป็นเพียงการเช็คเพื่อสังเกตอาการตนเองเบื้องต้นเท่านั้น เพราะปวดบริเวณ คอ บ่า ไหล่ นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงทำให้วิธีการรักษาแตกต่างกันออกไป การรักษาโดยการทำท่ากายบริหารตามข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต อาจทำให้คุณมองข้ามอาการที่เป็นสัญญาณเตือน และอาจกลายเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดเรื้องรังได้ ทางที่ดีที่สุดคุณๆทั้งหลายไม่ควรปล่อยไว้นาน ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาอาการ ดังกล่าว
สอบถามปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อได้ที่
- Line OA: https://lin.ee/swOi91Q หรือ Line ID @doctorkeng
- Website: www.taninnit.com
- YouTube: https://www.youtube.com/user/taninniitleerapun/videos
- Facebook: หมอเก่งไขปัญหาปวดกระดูกและข้อ
- Blockdit: https://www.blockdit.com/doctorkeng