มะเร็งตับ ลุกลามมาที่กระดูกได้อย่างไร?
เนื้อหาโดย : ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ (หมอเก่ง)
ช่วงนี้นะครับที่มีข่าวการเสียชีวิตของดาราดัง คุณตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง (ข้อมูลวันที่ 12 มิถุนายน 2563) จากโรคมะเร็งตับแล้วแพร่กระจายมาที่กระดูก ซึ่งไม่ได้แสดงอาการอะไรนอกจากกระดูกหักแล้วตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระดูกที่ลุกลามมาจากมะเร็งตับ
วันนี้ผมอยากจะมาอธิบายให้ท่านฟังเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกว่าส่วนใหญ่เกิดจากมะเร็งชนิดใด ผู้ป่วยจะมีอาการอย่างไรบ้างนะครับ
โรคมะเร็ง แพร่กระจายมาที่กระดูกนับว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุดของรอยโรคที่มีการทำลายโครงสร้างกระดูก มะเร็งของอวัยวะที่มักมีการแพร่กระจายมาที่กระดูกได้แก่ เต้านม ปอด ต่อมลูกหมาก ไต ไทรอยด์ และระบบทางเดินอาหารและตับ ผู้ป่วยหลายรายที่มีมะเร็งลุกลามมาที่กระดูกทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดที่มากขึ้น
การแพร่กระจายของมะเร็งมาที่กระดูกนั้นส่วนใหญ่จะแพร่กระจายมาทางเส้นเลือด เมื่อเกิดมะเร็งของอวัยวะต่างๆเช่นมะเร็งตับ มะเร็งปอดจะมีเส้นเลือดมาเลี้ยงก้อนมะเร็งมากมาย เมื่อมะเร็งเริ่มมีขนาดโตขึ้นและมีศักยภาพในการแพร่กระจาย ตัวมะเร็งก็จะลุกลามผ่านทางเส้นเลือดและกระจายไปตามอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายได้แก่ ปอด ตับ และกระดูก
เมื่อมีการกระจายแพร่แล้วตัวมะเร็งจะกระตุ้นการสร้างสารตัวหนึ่งในร่างกายที่ชื่อว่า Parathyroid hormone (PTH)-like factorsซึ่งจะเป็นตัวเร่งในการสร้างเซลล์เพื่อทำลายกระดูก และนำมาสู่การเกิดกระดูกหักได้ง่ายแม้เพียงล้มนิดเดียว หรือในบางครั้งก็เกิดกระดูกหักขึ้นมาเอง เนื่องจากมีการทำลายกระดูก
รวมทั้งการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆจากการที่มีมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกได้แก่ ภาวะระดับของแคลเซียมในกระแสเลือดสูง ภาวะการกดทับของไขสันหลังทำให้ผู้ป่วยเกิดอัมพาต การเกิดกระดูกหักแบบมีพยาธิสภาพ
ตำแหน่งของกระดูกที่พบว่ามีการแพร่กระจายของมะเร็งมาพบบ่อยตามลำดับได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกซี่โครง และบริเวณส่วนต้นของกระดูกระยางค์ เมื่อมีการทำลายกระดูกมากขึ้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมามีสาเหตุอันเนื่องมาจากมีการกระตุ้นการทำงาน และการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่ทำลายกระดูกมากกว่าปกติ
มะเร็งลุกลามมาที่กระดูกสันหลัง
กระดูกสะโพกหักจากมะเร็งลุกลาม
การประเมินผู้ป่วยต้องประเมินทั้งร่างกาย สิ่งที่สำคัญต้องประเมินดูว่าเมื่อมีการแพร่กระจายมาที่กระดูกแล้ว ลักษณะความแข็งแรงของโครงสร้างถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด มีการทำลายจนเกิดการหักของกระดูกหรือไม่
ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นมะเร็งมาก่อนอาจจะมาพบแพทย์เมื่อมีการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่กระดูกและอวัยวะภายในเช่น ปอด ตับ ร่วมด้วย ดังนั้นในบางครั้งการทำการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกนั้นต้องทำการสุ่มตรวจเนื้อเยื่อในบริเวณที่สงสัยว่ามีการแพร่กระจายของมะเร็งมาตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคก่อนที่จะให้การรักษาด้วยวิธีการอื่นๆเพิ่มเติมเช่นการผ่าตัด หรือการฉายรังสีรักษา
เราจะนึกถึงภาวะมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และมีรอยโรคที่บริเวณกระดูก ที่มักมีการแพร่กระจ่ายของมะเร็งมาได้บ่อย ได้แก่ กระดูกสันหลัง ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง และส่วนของกระดูกสะโพก
การตรวจ bone scan เพื่อดูการแพร่กระจายมาที่กระดูก
ในบางครั้งผู้ป่วยเกิดกระดูกหักจากการหกล้มเพียงเล็กน้อยโดยที่ไม่ได้แสดงอาการของมะเร็งที่อวัยวะอื่นมาก่อนก็เป็นไปได้ เช่นผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอด หรือมะเร็งตับก็อาจจะไม่มีอาการมาก แต่มาตรวจพบตอนหกล้มแล้วพบว่ามีกระดูกหัก
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการประเมินรอยโรคบริเวณกระดูกที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งมานั้นต้องประเมินดูว่ากระดูกที่ถูกทำลายนั้นสามารถรับต่อน้ำหนักปกติของร่างกายได้หรือไม่ หรือว่ากระดูกถูกทำลายไปมากก็จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งถ้ามีแนวโน้มที่กระดูกจะหักก็อาจจะพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกหัก หรือถ้ากระดูกหักไปแล้วก็อาจจะพิจารณาให้การรักษาผ่าตัดตามความเหมาะสมของแต่ละตำแหน่งที่เกิดการหักและสภาพทั่วไปของผู้ป่วย
การผ่าตัดกระดูก
เมื่อเกิดการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่กระดูกแล้วนั้นจะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาทั้งในด้านสภาพของร่างกาย และสภาพจิตใจ โดยเฉพาะในเรื่องของอาการปวดที่จะทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานมากที่สุด ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่มีมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกจะมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ การเกิดกระดูกหัก เมื่อลุกลามไปที่บริเวณกระดูกสันหลังก็จะทำให้มีอาการปวด และอาจเกิดการกดทับบริเวณไขสันหลังทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตร่วมด้วย ร่วมกับการเกิดภาวะของระดับแคลเซียมในกระแสเลือดสูงขึ้น
หลักในการรักษาที่สำคัญคือต้องได้ชิ้นเนื้อและประเมินก่อนว่าชิ้นเนื้อนั้นเป็นมะเร็งชนิดใด มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด มีการลุกลามไปที่กระดูกตำแหน่งไหนบ้าง หรือมีการแพร่กระจายไปที่ตับหรือปอด ร่วมด้วยหรือไม่
การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ตำแหน่งกระดูกที่หัก และระยะของการแพร่กระจาย ได้แก่
- การผ่าตัดรักษาตำแหน่งกระดูกหัก
- การรักษามะเร็งจุดเริ่มต้น
- การให้ยาเคมีบำบัด
- การฉายแสงรังสีรักษา
- การให้ยาที่เฉาพะเจาะจง target therapy
การพยากรณ์โรคมะเร็ง และระยะเวลาที่เหลือได้แก่
- ชนิดของมะเร็งเริ่มต้นที่เป็น
- ลักษณะการเจริญเติบโตและความรุนแรงของเซลล์มะเร็ง
- การแพร่กระจายไปยังปอดและตับ
- จำนวนกระดูกที่แพร่กระจาย ซึ่งถ้ากระจายหลายตำแหน่งก็ไม่ดี
ในท้ายนี้ผมขอแสดงความอาลัย และความเสียใจกับครอบครัวคุณตั้วด้วยนะครับ ผมหวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านบ้างนะครับ